ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านภูมิคุ้มกันวิทยาและโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน
Center of Excellence in Immunology and Immune-mediated diseases

คำสำคัญ Immunology, Immune-mediated diseases, Autoimmune diseases
ภาควิชา จุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์
โทรศัพท์ 02-256-4000 ต่อ 3674 โทรสาร 02-252-5952 E-mail Nattiya.H@chula.ac.th

หัวหน้าศูนย์ฯ

(ไทย) ศ.พญ.ดร.ณัฏฐิยา หิรัญกาญจน์
(อังกฤษ) Prof. Nattiya Hirankarn, MD., PhD.
ตำแหน่งวิชาการ ศาสตราจารย์

ความเป็นมา

ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านภูมิคุ้มกันวิทยาและโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันพัฒนามาจากหน่วยปฏิบัติการวิจัยลูปัสซึ่งดำเนินการผลิตผลงานวิจัยมาต่อเนื่องกันตั้งแต่ปีพ.ศ. 2548 โดยทีมผู้เชี่ยวชาญ ที่มีความสนใจในโรคลูปัส จากหลายสาขาอาทิ ผู้เชี่ยวชาญระบบภูมิคุ้มกัน, ผู้เชี่ยวชาญโรคไต, ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนัง, ผู้เชี่ยวชาญโรคข้อ, นักพันธุกรรมศาสตร์, นักอณูชีวโมเลกุล, และ เภสัชกรคลินิก นอกจากนี้ยังเป็น Multi-Center Collaboration โดยมีความร่วมมือระหว่าง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานีซึ่งเป็นศูนย์ศึกษาโรคลูปัสของกระทรวงสาธารณสุข ในการเก็บรวบรวมผู้ป่วยที่มีอาการแสดงในระบบต่างๆ ที่มีจำนวนเพียงพอต่อการวิเคราะห์ข้อมูล โดยมีแผนดำเนินการวิจัยหลักๆ 3 ด้าน คือ

I. Molecular Genetic Study
II. Diagnostic & Prognostic Marker Development (Molecular & Immunological Markers)
III. Patient Registry / Database Management & Clinical Trial (Multi-center)
ในปัจจุบันศูนย์ฯยังขยายงานวิจัยไปยังโรคอื่นๆที่มีพยาธิกำเนิดจากระบบภูมิคุ้มกัน ที่ยังเป็นปัญหาสุขภาพของประเทศ ได้แก่ โรคสะเก็ดเงินซึ่งเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่เกิดจากภูมิต้านเนื้อเยื่อตนเองที่พบได้บ่อยที่สุด และอาจมีผลรุนแรงของอวัยวะอื่นๆได้ด้วย โรคไวรัสตับอักเสบเรื้อรังซึ่งนำไปสู่ภาวะตับแข็งและมะเร็งตับซึ่งยังเป็นปัญหาสำคัญของประชากรไทยโดยพยาธิกำเนิดไม่ได้เกิดจากการทำลายจากเชื้อไวรัสโดยตรงแต่เป็นผลจากการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติเป็นหลัก โรคติดเชื้อในกระแสเลือดก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญของผู้ป่วยจากการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่รุนแรง นอกจากนี้ระบบภูมิคุ้มกันยังเป็นด่านสำคัญต่อการปลูกถ่ายเซลล์และอวัยวะซึ่งเป็นการรักษาสุดท้ายของโรคต่างๆจำนวนมากในปัจจุบัน ศูนย์ฯมีความเชี่ยวชาญด้านการหาดัชนีบ่งชี้การเกิดโรค พยากรณ์ความรุนแรงและ ภาวะแทรกซ้อนรวมทั้งการตอบสนองต่อการรักษาโดยอาศัยเทคโนโลยีด้านอณูชีวโมเลกุลและภูมิคุ้มกันวิทยาโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาการวินิจฉัยและการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างถูกต้องและเหมาะสมเฉพาะบุคคล (Personalized therapy) นอกจากนี้ความเข้าใจในกลไกการเกิดโรคมากขึ้นจะนำไปสู่การพัฒนาวิธีการรักษาใหม่ๆรวมถึงการป้องกันโรคในอนาคตต่อไป

พันธกิจของศูนย์ฯ

พันธกิจหลักคือการทำวิจัยเกี่ยวกับโรคที่มีพยาธิกำเนิดจากระบบภูมิคุ้มกันที่เป็นปัญหาสุขภาพของประเทศ และนำความรู้ไปประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพต่อการให้บริการต่อผู้ป่วยและสังคม นอกจากนี้ยังมีพันธกิจด้านงานผลิตบัณฑิตและบุคลากรวิจัยที่มีคุณภาพ

วัตถุประสงค์ของศูนย์ฯ

1. เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับกลไกการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันที่เป็นปัญหาสุขภาพของประเทศ
2. สร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน
3. เป็นศูนย์เชี่ยวชาญที่เป็นแหล่งอ้างอิงในด้านการวิจัยและวิชาการเกี่ยวกับโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันที่เป็นปัญหาสุขภาพของประเทศ
4. สามารถนำองค์ความรู้ใหม่มาประยุกต์เพื่อเป็นประโยชน์กับประชาชนชาวไทยผ่านการให้บริการวิชาการและการตรวจทางห้องปฏิบัติการ

เป้าหมายของศูนย์ฯ

1. ผลิตผลงานตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการระดับนานาชาติ อย่างน้อย 10 เรื่อง/ปี
2. นำเสนอผลงานวิชาการ อย่างน้อย 8 เรื่อง/ปี
3. ผลิตนิสิตระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตอย่างน้อย 4 คนต่อปี
4. จัดอบรมและเผยแพร่ความรู้แก่ผู้สนใจและประชาชนอย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี
5. ให้บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการแก่โรคที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันวิทยาที่ทันสมัยต่อประชาชน

รายละเอียดศูนย์และกลุ่มวิจัย

หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านภูมิคุ้มกันวิทยาและโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน
ศ.พญ.ดร.ณัฏฐิยา หิรัญกาญจน์ (หัวหน้าศูนย์)
ภารกิจ บริหารศูนย์ฯ หาแหล่งทุนสนับสนุนศูนย์ฯ ประสานงานการจัดอบรมและเผยแพร่องค์ความรู้ที่ได้จากศูนย์ฯ

หัวหน้ากลุ่มวิจัย
ภารกิจ ช่วยสนับสนุนหัวหน้าศูนย์หาแหล่งทุนสนับสนุนศูนย์ฯ และเผยแพร่องค์ความรู้ที่ได้จากศูนย์ฯ
รวมถึงการบริหารงานวิจัยในกลุ่มต่างๆให้ได้ผลงานตามแผนโดยแบ่งเป็นกลุ่มต่างๆ ดังนี้
1. กลุ่มวิจัยด้านโรคภูมิต้านเนื้อเยื่อตนเอง
ศ.นพ.ยิ่งยศ อวิหิงสานนท์ (หัวหน้า)
เป็นผู้เชี่ยวชาญโรคไตและความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันในโรคไต มีประสบการณ์และทำงานวิจัยโดยใช้เทคโนโลยีทางอณูชีววิทยาในการวินิจฉัยและตรวจติดตามโรคไตอักเสบลูปัส และการสลัดกราฟต์ในผู้ป่วยปลูกถ่ายไต โดยใช้การตรวจ mRNA ในเลือด/ปัสสาวะ หรือชิ้นเนื้อ

2. กลุ่มวิจัยด้านโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันอื่นๆ
ศ.พญ.ดร.ณัฏฐิยา หิรัญกาญจน์ (หัวหน้า)
เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอณูชีววิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยา (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าหน่วยภูมิคุ้มกันวิทยา ฝ่ายจุลชีววิทยา ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย) สนใจศึกษาด้านปัจจัยทางพันธุกรรมและการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันทั้งใน in vitro model และในผู้ป่วยที่เกิดจากโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันหลายโรค

3. กลุ่มวิจัยด้านภูมิคุ้มกันต่อการปลูกถ่ายอวัยวะ
อ.นพ.ดร.อัษฎาศ์ ลีฬหะวนิชกุลย์ (หัวหน้า)
เป็นผู้เชี่ยวชาญโรคไตและภูมิคุ้มกันวิทยา มีประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยปลูกถ่ายไตและทำงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาแบบจำลองโรคไตเรื้อรังในสัตว์ทดลอง รวมทั้งการศึกษากลไกการตอบสนองต่อการติดเชื้อในผู้ป่วยไตเรื้อรัง

4. กลุ่มวิจัยด้านเซลล์และวิถีสัญญาณทางภูมิคุ้มกัน
รศ.ดร.ธนาภัทร ปาลกะ (หัวหน้า)
เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันวิทยาพื้นฐาน โดยสนใจเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันแต่กำเนิด ทีลิมโฟไซต์กลุ่มใหม่ๆ รวมทั้งวิถีสัญญาณนอทช์ซึ่งเป็นวิถีสัญญาณหลักที่สำคัญอย่างหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน โดยเน้นการศึกษากลไกความผิดปกติของเซลล์และสัญญาณเหล่านี้ในโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน

นอกจากนี้ศูนย์เชี่ยวชาญฯยังมีอาจารย์หลักอีก 2 ท่าน คือ
รศ.พญ.ดร.จงกลนี วงศ์ปิยะบวร ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนัง และภูมิคุ้มกันวิทยา มีความสนใจศึกษาโรคผิวหนังที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันวิทยา ได้แก่ โรคสะเก็ดเงินและโรคลูปัสที่แสดงอาการทางผิวหนัง
อ.พญ.ดร.ปาจรีย์ จริยวิลาศกุล เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัชวิทยาคลินิก มาร่วมทีมในโครงการที่มีการศึกษาทางคลินิกโดยเน้นการวิเคราะห์ระดับยา การศึกษาปัจจัยทางพันธุกรรมเพื่อพยากรณ์การเกิดผลข้างเคียง เพื่อประโยชน์ในการดูแลผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

© Microbiology Chulalongkorn Mock up, 2014. All rights reserved.   Total Page Views:
Togel