2515-2520 โครงการการพัฒนาการทดสอบ Autoantibody ต่างๆ

ได้มีการพัฒนาวิธีการทดสอบ Autoantibody ต่างๆ เช่น Antinuclear, Anti Smooth muscle, Antimitochondria, Antireticulin, Antithyroid antibodies เป็นต้น ด้วยเทคนิค immunofluorescence โดยเตรียมเนื้อเยื่อเองในห้องปฏิบัติการ เป็นห้องปฏิบัติการแรกๆในประเทศไทย เทคนิคที่พัฒนาขึ้นมานอกจากใช้ในการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยแล้ว ยังได้ศึกษาวิจัยภูมิคุ้มกันต่อเนื้อเยื่อตนเองในโรคต่างๆในคนไทยที่ยังไม่มีผู้ศึกษามาก่อน ซึ่งต่อมาบางแอนติบอดีได้พัฒนาไปใช้วิธีอื่นๆ ที่มีความไว ความจำเพาะ หรือวิธีการที่ทำได้สะดวกขึ้น จนถึงขณะนี้ มีงานบริการตรวจแอนติบอดีต่างๆ กว่า 20 ชนิด

เอกสารอ้างอิง
1: สดใส เวชชาชีวะ. ภูมิคุ้มกันต่อเนื้อเยื่อตนเองบางชนิดในคนไทย. SMA – news letter 3, 1979 ; 35 : 12 – 26.
2: สดใส เวชชาชีวะ, เสาวลักษณ์ ชูศิลป์, อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ และดิลก เย็นบุตร. Autoantibody ในโรคติดต่อเชื้อและโรคภูมิต้านเนื้อเยื่อตนเองบางชนิด. จุฬาลงกรณ์ วารสาร 2524 ; 25 : 909 – 16
3: สดใส เวชชาชีวะ, พิทยา จันทรกมล และศรีจิตรา บุนนาค. Autoantibodies ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่สอง. จุฬาลงกรณ์ วารสาร 2524 ; 25 : 825 – 31.

2524 ศูนย์สเตริปโตคอกคัสแห่งชาติ

หน่วยแบคทีเรียวิทยา ฝ่ายจุลชีววิทยา โดย รศ.พญ.คุณหญิงอัมพร สุคนธสมาน และ รศ.ผ่องพรรณ นันทาภิสุทธิ์ ก่อตั้งศูนย์สเตริปโตคอกคัสแห่งชาติและได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ กรุงนิวเดลี เมื่อปี พ.ศ.2525

2527 การเพาะเลี้ยงเชื้อ Mycoplasma pneumoniae

หน่วยแบคทีเรียวิทยา ฝ่ายจุลชีววิทยา โดย อาจารย์นิพนธ์ อุดมสันติสุข สามารถเพาะเลี้ยงเชื้อ Mycoplasma pneumoniae จากผู้ป่วยได้เป็นแห่งแรกในประเทศไทย

2528 การวินิจฉัยผู้ป่วยเอดส์ 2 รายแรกของประเทศไทย

การวินิจฉัยผู้ป่วยเอดส์ 2 รายแรกของประเทศไทยด้วยเทคนิคการตรวจนับจำนวน T cell (E-rosette cell), T helper cell (OKT4 cell), T suppressor cell (OKT8 cell) และวิธีการตรวจหาการทำงาน (function) ของ T cell โดยดูการตอบสนองของ T cell ต่อ phytohemagglutinin (PHA) ซึ่งเป็น T cell mitogen ในหลอดทดลองโดยวัดการแบ่งตัวของเซลล์ด้วยการดูปริมาณรังสี tritium (H3) ที่ติดฉลากกับ thymidine ซึ่งถูกนำไปใช้สร้าง DNA เวลาเซลล์มีการแบ่งตัว ซึ่งเป็นเทคนิคโบราณทางด้าน cellular immunology ที่อาจารย์นายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาคได้พัฒนาขึ้นมาใช้ให้บริการที่ห้องปฎิบัติการภูมิคุ้มกันวิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 เพื่อตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องทำให้อาจารย์นายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค และคณะจากภาควิชาจุลชีววิทยา และ อายุรศาสตร์สามารถวินิจฉัยผู้ป่วยเอดส์ 2 รายแรกของประเทศไทยได้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2528 คนไข้รายแรกเป็นผู้ชายอเมริกันซึ่งเป็นชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย โดยได้รับการปรึกษามาจากศาสตราจารย์นายแพทย์ขจร ประณิช อดีตหัวหน้าภาควิชาจุลชีววิทยาตั้งแต่ปลายปี 2527 ให้ช่วยเพื่อหาสาเหตุของการที่มีเชื้อราที่ผิวหนังซึ่งเป็นค่อนข้างมากและเรื้อรัง การตรวจวินิจฉัยในช่างนั้นพบว่าทั้งจำนวนและการทำงานของ T cell น้อยกว่าคนปกติ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าเกิดจากสาเหตุใด แต่พอคนไข้ถูกรับเข้าโรงพยาบาลด้วยโรคปอดอักเสบชนิด Pneumocystis carinii pneumonia (PCP) พร้อมกับมีความผิดปกติมากขึ้นของ T cell จึงวินิจฉัยว่าผู้ป่วยรายนี้เป็นเอดส์ ในสมัยนั้นยังไม่มีชุดตรวจเอดส์ (Anti-HIV test) ขายในประเทศไทยจนกระทั่งอีก 3 เดือนต่อมา เมื่อนำเลือดของคนไข้รายนี้ที่เก็บไว้เดิมมาตรวจก็พบว่าติดเชื้อเอชไอวีจริง สัปดาห์ต่อมา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ก็ได้รับการส่งต่อชายไทยขายบริการคนหนึ่งจากโรงพยาบาลตำรวจเพื่อหาสาเหตุของการที่มีการติดเชื้อ Cryptococcus ทั่วร่างกายอาจารย์นายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาคก็ใช้วิธีการเดิมในการประเมินจำนวนและการทำงานของ T cell ก็ปรากฎว่าต่ำเช่นกัน จึงวินิจฉัยว่าเป็นเอดส์รายที่ 2 ของประเทศไทย ผู้ป่วยรายนี้มีแฟนสาวคนหนึ่งจึงได้เชิญให้มาตรวจด้วย ก็พบว่ามีต่อมน้ำเหลืองทั่วตัวและมีความผิดปกติของ T cell ด้วยเช่นกัน แต่ไม่มากนัก เมื่อตรวจ Anti-HIV test ของ 2 รายนี้ย้อนหลังก็พบว่าบวกเช่นกัน จึงมีการประกาศเตือนผ่านสื่อให้ประชาชนคนไทยทราบว่าเอดส์เข้ามาถึงเมืองไทยแล้วก่อนหน้านั้น มีผู้ชายไทยรายหนึ่งซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเอดส์แล้วจากสหรัฐอเมริกาเดินทางกลับประเทศไทยประมาณกลางปี 2527 และเข้ารับการรักษาจนเสียชีวิตในเวลาต่อมาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี คนไข้ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทั้ง 3 คนเป็นคนไข้ที่วินิจฉัยได้ในประเทศไทยเองโดยอาศัยเทคนิคการตรวจ T cell ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาที่ภาควิชาจุลชีววิทยา

เอกสารอ้างอิง
1: Phanuphak P, Locharernkul C, Panmuong W, Wilde H. A report of three cases of AIDS in Thailand. Asian Pacific J AllergImmun 1985; 3:195-199.

2529 การเก็บตัวอย่างเลือดบนกระดาษซับ

สืบเนื่องจากข้อจำกัดในการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการในที่ต่าง ๆ ของประเทศ ทำให้การวินิจฉัยโรคหัดเยอรมันทางห้องปฏิบัติการไม่สามารถทำได้  รศ.พญ.วรรณา พรรณรักษาจึงคิดวิธีการนำส่งตัวอย่างจากที่ไกล เพื่อนำส่งมายังห้องปฏิบัติการเพื่อทำการวิเคราะห์ได้โดยใช้เลือดซึมซับในกระดาษกรอง  ผลการศึกษานี้ ต่อมาได้ใช้กันแพร่หลายทั่วประเทศ  ต่อมามีการนำวิธีนี้ไปใช้เพื่อตรวจหาแอนติบอดีชนิดอื่น ๆ  นอกจากไวรัสหัดเยอรมันด้วย

เอกสารอ้างอิง
1: Detection of IgG, IgMrubella antibodiesin blood collectedon filter paper strips.Chula Med J 1986;30(12): 1193-1200

2: Detection of rubellavirus immunoglobulin G(IgG) and IgMantibodiesin whole blood onWhatmanpaper: comparisonwith detection in sera.J ClinMicrobiol 1991;29: 2209-2212

2529 วิธีการตรวจหาแอนติบอดีหัดเยอรมันชนิด IgM ด้วยวิธี solid-phase immunosorbent hemagglutination inhibition technic

ด้วยในช่วงเวลานั้นโรคหัดเยอรมันยังเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย เนื่องจากยังมีการระบาดเป็นระยะ และบางครั้งรุนแรงมากมีผลกระทบของโรคต่อทารกในครรภ์ และยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค การวินิจฉัยโรคทางห้องปฏิบัติการที่เป็นวิธีมาตรฐานคือ การตรวจหาแอนติบอดีต่อหัดเยอรมันด้วยวิธี hemagglutination inhibition test โดยต้องใช้น้ำเหลือง 2 ครั้ง เพื่อดูการเพิ่มขึ้นของระดับแอนติบอดี ซึ่งวิธีดังกล่าวไม่สามารถนำมาใช้เพื่อการวินิจฉัยทารกแรกคลอดที่ติดเชื้อจากมารดาในระหว่างการตั้งครรภ์ได้ รศ.พญ.วรรณา พรรณรักษา และคณะ ได้ทำการพัฒนาวิธีการตรวจหาแอนติบอดีหัดเยอรมันชนิด IgM ด้วยวิธี solid-phase immunosorbent hemagglutination inhibition technic ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย วิธีใหม่นี้สามารถตรวจหาแอนติบอดีจำเพาะชนิด IgM ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้การติดเชื้อ ช่วยในการวินิจฉัยโรค ต่อมาวิธีนี้ได้ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วไป

เอกสารอ้างอิง
1: Detection of rubellaspecific IgM by solid -phase immunosorbenthemagglutinationinhibition technic.

Chula Med J 1986Dec; 30 (12): 1227-1235

2530 การตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อ Chlamydia trachomatis, Chlamydophila psittaci และ Chlamydophila pneumoniae

หน่วยแบคทีเรียวิทยา ฝ่ายจุลชีววิทยา โดย รศ.ดร.สมหญิง ธัมวาสร ทำการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อ Chlamydia trachomatis, Chlamydophila psittaci และ Chlamydophila pneumoniae โดยการเพาะเชื้อใน cell culture รวมทั้งการทดสอบทาง ซีโรโลยี และการทดสอบทางอณูชีววิทยา

2534-2535 การศึกษาวิจัยโรคพิษสุนัขบ้าอย่างครบวงจร

เป็นงานวิจัยที่อาจารย์ในหน่วยภูมิคุ้มกันวิทยา (อ.ดร.ทวีศักดิ์ ตีระวัฒนพงษ์) ร่วมกับกองวิทยาศาสตร์ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าอย่างครบวงจร เช่น การตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อพิษสุนัขบ้าในสมองและน้ำลายสุนัขด้วย เทคนิค PCR เพื่อทดแทนวิธีเก่าที่ย้อมด้วย Immunohistochemistry ผลของการศึกษาครั้งนี้ทำให้ได้องค์ความรู้ใหม่ๆเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งมีผลทำให้การดูแลรักษา และการตรวจวินิจฉัยผู้ที่สงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ผลที่ดี รวดเร็ว จนสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ดีขึ้นอย่างชัดเจน ส่งผลให้งานวิจัยที่ได้รับรางวัลงานวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จากสภาวิจัยแห่งชาติประจำปี พ.ศ. 2535 และรางวัลมหิดล – บีบราวน์ ประจำปี 2535

เอกสารอ้างอิง
1: Kamolvarin N, Tirawatnpong T,Rattanasiwamoke R,Tirawatnpong T, et al. Diagnosis of rabies by polymerase chain reaction using nested primers. J Infect Dis1993 ; 167 : 207-10.

2534-2537 การทดสอบยาต้านไวรัสเอดส์ครั้งแรกของประเทศไทย

Zidovudine (azidothymidine, AZT) เป็นยาต้านไวรัสเอดส์ตัวแรกของโลก เริ่มจำหน่ายตั้งแต่ปี 2530 แต่มีราคาแพงมาก มีคนไทยที่ติดเชื้อเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่ได้ใช้ยาดังกล่าวในระยะแรกๆ ด้วยความช่วยเหลือของ Professor Scott Hammer จาก Harvard School of Medicine ทำให้บริษัท Burrough Wellcome ผู้ผลิตยา AZT ในประเทศอังกฤษยินดีบริจาคยา AZT มูลค่ากว่า 26 ล้านบาท (สมัยนั้น 20 บาท = 1 US$) ให้กับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อมาทดสอบใช้กับคนไข้ไทย โดยมีรองศาสตราจารย์นายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย เปรียบเทียบ AZT 250 mg วันละ 2 ครั้ง กับการให้ AZT 100 mg 3 เวลาหลังอาหาร และ 200 mg ก่อนนอน เพื่อดูว่าการให้วันละ 2 ครังจะได้ผลดีเท่าวันละ 4 ครั้งหรือไม่ ถ้าได้ก็จะสะดวกกว่ากันมาก โครงการนี้ทำในผู้ป่วย 200 คน เป็นคนไข้ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 160 คน และคนไข้ที่โรงพยาบาลศิริราช 40 คนภายใต้การดูแลของรองศาสตราจารย์นายแพทย์สุรพล สุวรรณกูล โดยให้ยาไปนาน 2 ปี ในช่วงแรกๆ รองศาสตราจารย์นายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค และอาจารย์แพทย์หญิงมัทนา หาญวณิชย์ ใช้ห้องปฏิบัติการภูมิคุ้มกันวิทยา ของภาควิชาจุลชีววิทยา บนตึกอานันทมหิดล ชั้น 6 เป็นคลินิกที่ดูคนไข้ จนย้ายไปที่ตึก ภปร. ในภายหลัง ผลการศึกษาพบว่าการให้ยา AZT วันละ 2 ครั้ง ให้ผลดีเท่ากับการแบ่งให้ยาเป็นวันละ 4 ครั้ง  ผลการศึกษานี้ ทำให้ทั่วโลกมั่นใจกับการให้ยา AZT วันละ 2 ครั้ง และประเทศไทยก็ใช้ยา AZT 200 mg วันละ 2 ครั้ง เพราะคนไทยตัวเล็กกว่าฝรั่ง และไม่มี AZT ขนาดเม็ดละ 250 mg ขายในประเทศไทย ทำให้ประหยัดค่ายา และลดผลข้างเคียงของยาได้ และผลของความสำเร็จในการทดสอบยาต้านไวรัสเอดส์ครั้งนั้น ยังนำมาซึ่งการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยาต้านไวรัสเอดส์ของสภากาชาดไทยที่ร่วมมือกับประเทศออสเตรเลีย และ เนเธอร์แลนด์ ที่ชื่อว่า HIV-NAT (The HIV Netherlands Australia and Thailand Research Collaboration) ในปี 2539 ซึ่งมีชื่อเสียงระดับนานาชาติมาจนถึงปัจจุบัน

เอกสารอ้างอิง
1: Phanuphak P, Grayson ML, Sirivichayakul S, Suwanagool S, Ruxrungtham K, Hanvanich M, Ratanasuwan W, Ubolyam S, Hughes MD, Wanke CA, Hammer SM. A comparison of two dosing regimens of zidovudine in Thai adults with early symptomatic HIV infection: conducting clinical HIV trials in South-East Asia. Aust NZ J Med 2000; 30:11-20.

2536 การตรวจหาเชื้อวัณโรคด้วยเทคนิคพีซีอาร์

โรคที่เป็นปัญหาหลักของประเทศไทยโรคหนึ่งคือ โรควัณโรค ในสมัยนั้นวิธีการตรวจยังไม่มีความไวพอฝ่ายจุลชีววิทยาโดย รศ.ดร.สมหญิง ธัมวาสร ได้พัฒนาวิธีการตรวจหาเชื้อวัณโรคด้วยเทคนิคพีซีอาร์ แบบ in-house method ที่มีความไวและความจำเพาะสูง นำมาใช้บริการตรวจหาเชื้อวัณโรคในผู้ป่วย เป็นการเปิดบริการการตรวจวัณโรคด้วยเทคนิคทันสมัยเป็นที่แรก ๆ ของประเทศไทยและการทดสอบนี้ ได้รับการรับรองคุณภาพตามมาตรฐาน ISO 15189

2536 การพัฒนาวิธีการทดสอบด้านชีวโมเลกุล (Molecular Biology) เพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรคติดเชื้อ HIV, HBV, HEV, Dengue virus

เป็นงานวิจัยเพื่อพัฒนาวิธีการตรวจทางห้องปฏิบัติการในผู้ที่สงสัยการติดเชื้อที่เป็นอันตราย ได้แก่ การติดเชื้อ HIV, ไวรัสตับอักเสบบี (HBV), ไวรัสตับอักเสบซี (HCV) และโรคไข้เลือดออก (Dengue virus) โดยการพัฒนาเทคนิค PCR โดยใช้ primers ที่เตรียมขึ้นเอง จนได้วิธีการที่มีความไวและความจำเพาะสูงมาก และสามารถนำมาใช้ในงานวินิจฉัยโรคติดเชื้อดังกล่าวในผู้ป่วยเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ทำให้การวินิจฉัยทำได้รวดเร็ว มีราคาถูกกว่าน้ำยาสำเร็จรูป ซึ่งในระยะนั้นยังไม่ค่อยมีใช้ในประเทศไทย รวมทั้งมีราคาแพงมาก งานนี้จึงก่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงต่อผู้ป่วยและเป็นการประหยัดงบประมาณอย่างมาก

2537 การทดสอบวัคซีนเอดส์ครั้งแรกในประเทศไทย

รองศาสตราจารย์นายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค และคณะจากภาควิชาจุลชีววิทยา และคลีนิกนิรนาม สภากาชาดไทย ได้ทำการทดสอบวัคซีนเอดส์ครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2537 โดยใช้วัคซีนสังเคราะห์ (synthetic peptide) ที่เลียนแบบ V3 loop ของ gp120 ของเชื้อเอชไอวีซึ่งทำขึ้นโดยบริษัท United Biomedical, Inc. ประเทศสหรัฐอเมริกา มีอาสาสมัครทั้งหมด 30 คน แต่ละคนได้รับวัคซีน 3 ครั้งในช่วงเวลา 6 เดือน ผลปรากฎว่าวัคซีนมีความปลอดภัยสูง และสามารถกระตุ้นภูมิต้านทานได้ แม้ภูมิต้านทานจะไม่สูงมากนัก และแม้ว่าวัคซีนสังเคราะห์รูปแบบดังกล่าวจะไม่ได้รับการพัฒนาต่อมา แต่ความสำเร็จของการทดสอบคราวนั้นเป็นการบอกชาวโลกว่าการทดสอบวัคซีนเอดส์ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากอาสาสมัครไทยท่ามกลางการถกเถียงกันทั่วโลกว่าควรทำที่ประเทศใด และมีผลดีผลเสียอย่างไร ผลความสำเร็จดังกล่าว นำมาสู่การทดสอบวัคซีนเอดส์อีกหลายๆครั้งในประเทศไทย จนทำให้ประเทศไทยมีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลกในการทดสอบประสิทธิภาพ (efficacy) ของวัคซีนเอดส์ อีกทั้งนำไปสู่ความสนใจของนักวิจัยในคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพัฒนาวัคซีนเอดส์ต้นแบบในสัตว์ทดลองเพื่อพัฒนาเป็นวัคซีนที่จะนำมาทดสอบกับคนต่อไป ตั้งแต่บัดนั้นมาจนกระทั่งปัจจุบัน

เอกสารอ้างอิง
1: Phanuphak P, Teeratakulpisarn S, Sarangbin S, Nookhai S, Ubolyam S, Sirivichayakul S, Leesavan A, Forrest BD, Hanson CV, Li M, Wang CY, Koff WC. International clinical trials of HIV vaccines: I. Phase I trial of an HIV-1 synthetic peptide vaccine in Bangkok, Thailand. Asian Pacific J AllergImmun 1997; 15:41-48.

2: Sirivichayakul S, Tirawatnapong T, Ruxrungtham K, Oelrichs R, Lorenzen SI, Xin KQ, Okuda K, Phanuphak P.Construction and immunogenicity study of a 297-bp humanized HIV V3 DNA of an approximated last common ancestors in mice. Asian Pacific JAllergImmun 2004; 22: 49-60.

2542 การทดสอบทางอณูชีววิทยาตรวจ Mycoplasma pneumoniae

ฝ่ายจุลชีววิทยา โดย รศ.ดร.สมหญิง ธัมวาสร พัฒนาวิธีการตรวจและทดสอบทางอณูชีววิทยาด้วยวิธีพีซีอาร์ของ Mycoplasma pneumoniae และเป็นแห่งเดียวในประเทศไทยที่เปิดบริการ

2543 การวิเคราะห์สปีชีส์ของแบคทีเรียด้วยเทคนิคการหาลำดับเบส (DNA sequencing)

การวิเคราะห์สปีชีส์ของแบคทีเรียด้วยเทคนิคการหาลำดับเบส (DNA sequencing) ตั้งแต่ใช้ manual sequencing

2545 การทดสอบทางอณูชีววิทยาตรวจ Chlamydia pneumoniae

ฝ่ายจุลชีววิทยา โดย รศ.ดร.สมหญิง ธัมวาสร พัฒนาวิธีการตรวจและทดสอบทางอณูชีววิทยาด้วยเทคนิคพีซีอาร์ของ Chlamydia pneumoniae และเป็นแห่งเดียวในประเทศไทยที่เปิดบริการ

2550 การตรวจ Tissue Typing โดยการตรวจ HLA type

การตรวจ Tissue Typing โดยการตรวจ HLA type เป็นบริการมาตรฐานสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์หรืออวัยวะ ในปี พ.ศ. 2550 ทางห้องปฏิบัติการของเราได้ร่วมทำวิจัยเพื่อตรวจหา HLA-B typing ในผู้ป่วยที่ได้รับยากันชักและช่วยยืนยันว่า HLA-B*15:02 เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการแพ้ยากันชักทั้งชนิด Carbamazepine และ Phenytoin อย่างรุนแรง หลังจากนั้นทางห้องปฏิบัติการจึงได้พัฒนาวิธีการตรวจ specific HLA เพื่อช่วยในพยากรณ์ความเสี่ยงต่อการแพ้ยาให้กับผู้ป่วย และเริ่มให้บริการในโรงพยาบาลจุฬาฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา นอกจากการตรวจ HLA-B*15:02 แล้ว เรายังให้บริการตรวจ  HLA-B*57:01 เพื่อตรวจผู้ที่มีความเสี่ยงจะแพ้ยาต้านไวรัส Abacavir และ HLA-B*58:01 เพื่อตรวจผู้ที่มีความเสี่ยงจะแพ้ยา Allopurinol เพื่อรักษาโรคเกาต์ด้วย วิธีการตรวจที่พัฒนาขึ้นนี้ใช้เทคนิค PCR เพื่อตรวจ HLA ที่สนใจแค่บางตัวจึงสามารถลดค่าใช้จ่ายในการตรวจให้กับผู้ป่วย และสามารถออกผลได้อย่างรวดเร็วเพื่อช่วยแพทย์ในการเลือกใช้ยาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วย นอกจากนี้ผู้วิจัยยังพัฒนาเทคนิคใหม่คือการตรวจด้วยวิธี nested PCR ที่มีความจำเพาะและความไวสูงสามารถตรวจจากตัวอย่างเลือดได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านการสกัด DNA ก่อนและในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการยื่นจดอนุสิทธิบัตร

เอกสารอ้างอิง
1: Virakul S, Kupatawintu P, Nakkuntod J, Kangwanshiratada O, Vilaivan T, Hirankarn N. A nested sequence-specific primer-polymerase chain reaction for the detection of HLA-B*15:02. Tissue Antigens. 2012 Apr;79(4):295-301

2: Locharernkul C, Shotelersuk V, Hirankarn N. Pharmacogenetic screening of carbamazepine-induced severe cutaneous allergic reactions. J ClinNeurosci. 2011 Oct;18(10):1289-94.

3: Locharernkul C, Shotelersuk V, Hirankarn N. HLA-B* 1502 screening: time to clinical practice. Epilepsia. 2010 May;51(5):936-8.

4: Locharernkul C, Loplumlert J, Limotai C, Korkij W, Desudchit T, Tongkobpetch S, Kangwanshiratada O, Hirankarn N, Suphapeetiporn K, Shotelersuk V. Carbamazepine and phenytoin induced Stevens-Johnson syndrome is associated withHLA-B*1502 allele in Thai population. Epilepsia. 2008 Dec;49(12):2087-91.

2552 การใช้ NAT (Nucleic AcidTechnology) ในการตรวจคัดกรองโลหิต

เป็นโครงการวิจัยร่วมกันหลายหน่วยงานร่วมกับศูนย์บริการโลหิต สภากาชาดไทย โดยอาจารย์ในหน่วยภูมิคุ้มกันวิทยา (อ.ดร.ทวีศักดิ์ ตีระวัฒนพงษ์) มีส่วนร่วมในการริเริ่มในการนำความรู้จากการที่ได้พัฒนาเทคนิค NAT มาใช้ในการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วย มาสู่การตรวจคัดกรองโลหิตของผู้บริจาคโลหิต สภากาชาดไทย เพื่อลดการถ่ายทอดเชื้อสู่ผู้ที่ได้รับโลหิตจากผู้บริจาค ที่อาจเพิ่งติดเชื้อใหม่ และไม่สามารถตรวจพบจากวิธีการตรวจคัดกรองทั่วไป ซึ่งเป็นการตรวจ Antigen หรือ แอนติบอดีงานวิจัยนี้นำไปสู่การใช้ NAT ในการคัดกรองโลหิตทั้งโรคติดเชื้อ HIV, HBV และ HCV ในปัจจุบัน

เอกสารอ้างอิง
Phikulsod S, Oota S, Tirawatnapong T, et al. One-year experience of nucleic acid technology testing for human immunodeficiency virus Type 1, hepatitis C virus, and hepatitis B virus in Thai blood donations.  Transfusion 2009;49:1126-35

2555 การใช้เม็ดเลือดขาวทีเซลล์เพื่อรักษาโรคมะเร็ง

ทีเซลล์ (T cells) เป็นเม็ดเลือดขาวที่ร่างกายใช้ต่อสู้กับการติดเชื้อไวรัส และโรคมะเร็ง ผศ.นพ.ดร.ปกรัฐ หังสสูต สังกัดสาขาวิชาไวรัสวิทยาภาควิชา/ฝ่ายจุลชีววิทยา และคณะได้ทำการเพาะเลี้ยง  และเพิ่มจำนวนทีเซลล์ในห้องปฏิบัติการให้จำเพาะต่อไวรัสอีบีวี (EBV) ซึ่งเป็นไวรัสที่พบในเซลล์มะเร็งบางชนิด และนำมาให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว/ต่อมน้ำเหลืองชนิดT/NK cells พบว่ามีความปลอดภัยสูงมาก ผู้ป่วยที่ได้รับเซลล์ไม่มีผลข้างเคียงแต่ประการใด และมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสอีบีวีเพิ่มขึ้น ขณะนี้คณะผู้พัฒนาการรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีนี้กำลังวางแผนเพื่อทำการรักษาโรคมะเร็งชนิดอื่นต่อไป

2555 ไพรเมอร์และวิธีการสำหรับตรวจหาและจัดจำแนกเชื้อพิเทียม อินซิดิโอซุ่มในระดับกลุ่มย่อย ด้วยวิธีการวิเคราะห์ของไฮเรสโซลูชั่นเมลติ้ง

พิเทียม อินซิดีโอซุ่ม เป็นจุลชีพลักษณะคล้ายราและเป็นสาเหตุก่อโรค Pythiosis ที่ถึงแก่ชีวิตได้ มีอุบัติการณ์การก่อโรคในมนุษย์สูงสุดในประเทศไทย เชื้อดังกล่าวถูกจำแนกเป็น 3 กลุ่มย่อย คือ Clade I, II และ III โดยอาศัยลำดับเบสของ Internal transcribed spacer (ITS) ซึ่งสอดคล้องกับผลการจัดจำแนกโดยอาศัยข้อมูลลำดับเบสในส่วนของยีน Cytochrome Oxidase II (Cox II) โดยตั้งชื่อเป็น Clade ATH, BTH และ CTH ซึ่งยีน Cox II แสดงความสามารถในการจัดจำแนกกลุ่มได้ชัดเจนกว่า ปัจจุบันการวิเคราะห์เพื่อจัดกลุ่มย่อยต้องใช้การเพิ่มจำนวนสารพันธุกรรมบริเวณยีนที่สนใจด้วยเครื่องเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมและนำผลผลิตที่ได้ไปศึกษาลำดับเบส (Sequencing) ซึ่งต้องใช้เครื่องมือที่จำเพาะและมีราคาสูง ก่อนนำลำดับเบสที่ได้ไปวิเคราะห์เปรียบเทียบกับข้อมูลที่สืบค้นได้จากแหล่งข้อมูลลำดับเบสต่างๆ ด้วยวิธีการดังกล่าวมีขั้นตอนการเตรียมตัวอย่างหลายขั้นตอนจึงต้องใช้เวลากว่า 8 ชั่วโมงในการศึกษา ตลอดจนมีต้นทุนที่สูง คณะผู้วิจัยจึงได้ทำประดิษฐ์ไพรเมอร์โดยใช้ชื่อว่า Cox_Pi_5 และ Cox_Pi_6 ซึ่งมีความจำเพาะต่อยีน Cox II และใช้การตรวจวิเคราะห์ด้วยเครื่อง Real-time PCR ขึ้นโดยอาศัยความแตกต่างของลำดับเบสจำนวน 1 เบส ในตำแหน่งต่างกันของเชื้อในแต่ละกลุ่มย่อย ซึ่งวิธีดังกล่าวไม่ต้องอาศัยเครื่อง Sequencing จึงลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและลดระยะเวลาในการทดสอบตั้งแต่กระบวนการเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมจนถึงกระบวนการจัดแยกกลุ่มย่อยเหลือเพียงประมาณ 3.5 ชั่วโมงเท่านั้น โดยสรุปสิ่งประดิษฐ์นี้สามารถตรวจพิสูจน์เชื้อพิเทียม อินซิดิโอซุ่ม ในระดับกลุ่มย่อยได้ภายในระยะเวลาอันสั้นด้วยต้นทุนที่ต่ำลงโดยไม่ต้องอาศัยเครื่อง Sequencing ซึ่งมีความจำเพาะและราคาสูง อันจะเป็นประโยชน์ยิ่งในศึกษาระบาดวิทยาหรือวงศ์วานวิวัฒนาการต่างๆของเชื้อ และการพัฒนาการตรวจหาเชื้อโดยตรงจากสิ่งส่งตรวจต่อไป

© Microbiology Chulalongkorn Mock up, 2014. All rights reserved.   Total Page Views:
Togel